เครื่องมือที่ใช้ทำการประมง

เครื่องมือที่ใช้ทำการประมง
ใช้เครื่องมือทำการประมงถูกที่เพื่ออนาคตที่ดีของสัตว์น้ำ!

December 24, 2006

เรืออวนล้อมจับปลากะตักกลางวัน ( DAY ANCHOVY PURSE SEINER)
ลักษณะของเรือมี 2 ขนาดคือ
1. เรือขนาดเล็กจะมีความยาว 7 - 16 เมตร ใช้คนประมาณ 5 - 14 คน เรือขนาดเล็กความยาวอวน 160 - 250 เมตร ขนาดของตาอวน 0.4 - 0.6 เซนติเมตร
2. เรือขนาดใหญ่จะมีความยาว 20 - 22 เมตร ใช้คนประมาณ 30 คน เรือขนาดใหญ่ความยาว 250 - 400 เมตร ขนาดของตาอวน 0.8 เซนติเมตรไม่ใช้เครื่องมือในการปั่นไฟ ใช้เครื่องมีลักษณะอวนล้อมจับแบบใช้สายมาน
เรืออวนล้อมปั่นไฟปลากะตัก (LIGHTED ANCHOVY PURSE SEINE)ประกอบด้วย เรืออวน (เรือแม่) 1 ลำ และเรือปั่นไฟ 1- 3 ลำส่วนใหญ่ 2 ลำทำหน้าที่ปั่นไฟล่อสัตว์น้ำ ความยาวเรืออวน 16 - 24 เมตร เรือปั่นไฟความยาว 9 - 14 เมตร ใช้กำลังไฟขนาด 15 - 20 กิโลวัตต์/ลำ จำนวนคน 20 - 30 คน เรือทุกลำมีเครื่องเอคโค ซาวเดอร์ ช่วยค้นหาฝูงปลา บางลำมีโซน่าร์ ใช้อวนล้อมจับแบบใช้สายมานความยาวอวน 250 - 500 เมตร ลึก 50 - 80 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ขนาดของตาอวน 0.7 - 0.8 เซนติเมตรส่วนใหญ่ทำการประมงในน้ำลึก 20 - 45 เมตร (ฝั่งอ่าวไทย) และลึก 20 - 80 เมตร (ฝั่งอันดามัน) จะทำการประมงในเวลากลางคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน ถึงพระอาทิตย์ขึ้น เริ่มจากเรืออวนแล่นเรือค้นหาฝูงปลา ในช่วงเย็น ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เมื่อพบฝูงปลาจะให้เรือปั่นไฟทั้งสองลำ ซึ่งแล่นตามมาแยกย้ายกัน ทอดสมอตรงจุดที่พบฝูงปลากะตัก และเปิดไฟล่อสัตว์น้ำ รอเวลาให้กระแสน้ำหยุดไหล จึงจะทำการจับสัตว์น้ำ ที่ตอมแสงไฟของเรือปั่นไฟทีละลำ จำนวนวันที่ออกทำการประมง เริ่มตั้งแต่ แรม 5 ค่ำ ถึง 12 ค่ำ หรือ 22 - 23 วัน / เดือน วางอวน 2 - 3 ครั้ง / คืน จังหวัดที่พบมากคือ ตราด ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา สตูล กระบี่ สงขลา

อวนช้อนปลากะตักปั่นไฟ ลักษณะของเรือมีความยาว 7 - 8 เมตร ส่วนใหญ่ 10 - 14 เมตร ใช้กำลังไฟขนาด 5 - 25 กิโลวัตต์ จำนวนคน 3 - 6 คน ส่วนใหญ่มีเครื่องหาฝูงปลาแบบ เอคโค ซาวเดอร์ เครื่องมืออวนช้อนปลากะตัก ความยาวอวน เท่ากับความยาวอวน เท่ากับความยาวเรือ ความลึกอวน 10 - 16 เมตร มุมอวนทั้งสองมีตะกั่วถ่วง และเชือกฉุดอวน ขนาดตาอวน 0.8 เซนติเมตร ทุกลำจะมีแหยักษ์สำหรับใช้จับหมึก โดยใช้ตามความชุกชุมของสัตว์น้ำ แหล่งทำการประมง ส่วนใหญ่น้ำลึก 20 - 45 เมตร จะทำการประมงในเวลากลางคืน เริ่มจากเรือแล่นค้นหาฝูงปลากะตักด้วยเครื่องเอคโค ซาวเดอร์ ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน จนกระทั่งพบฝูงปลากะตัก จึงทำการปั่นไฟ ซึ่งอาจทอดสมอ หรือปล่อยอวนลอยถ่วงหัวเรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง รอจนกระทั่งมีฝูงปลากะตักปรากฏหนาแน่นที่จอเครื่อง เอคโค ซาวเดอร์ โดยปิดไฟทุกดวงเหลือเพียงกลุ่มไฟสปอตไลท์กลางลำด้านที่มีเครื่องมืออวน ทำการ หรี่ - เร่ง - หรี่ไฟ สลับกัน เพื่อทำให้ปลากะตักอยู่บริเวณผิวน้ำ ภายในรัศมีการทำงานของผืนอวนเมื่อเห็นว่าปลากะตักไม่ขึ้นมามากกว่านี้อีกแล้ว จึงทำการช้อนปลากะตัก โดยฉุดเชือกผูกหัวมุมอวนขึ้นเรือด้วยกว้าน กู้อวนและ ตักปลาใส่เรือ คืนหนึ่งทำซ้ำได้หลายครั้งส่วนใหญ่ 5 - 10 ครั้ง และมีการย้ายแหล่งจับ 2 - 4 แห่ง/คืน จำนวนวันออกทำ การประมง 22 - 23 / เดือนจังหวัดที่พบเห็นเรือชนิดนี้คือ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล พังงา ระนอง
อวนครอบปลากะตักปั่นไฟ ลักษณะของเรือชนิดนี้ มีความยาว 7 - 16 เมตร แต่ส่วนใหญ่ 10 - 14 เมตร ใช้กำลังไฟขนาด 5 - 30 กิโลวัตต์ และมีเครื่องหาฝูงปลาแบบ เอคโค ซาวเดอร์เครื่องมือที่ใช้คือ อวนครอบ หรืออวนมุ้ง ลักษณะของอวนรูปกล่องสี่เหลี่ยมเปิดด้านบนและด้านล่างความยาวอวนใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับความยาวเรือ หรือ 7 - 16 เมตร ความลึกอวนขึ้นอยู่กับขนาดเรือ หรือ 18 - 30 เมตร ขนาดตาอวน 0.5 เซนติเมตร ขอบล่างสุดผืนอวน มีตะกั่ว และห่วงโลหะวงแหวนผูกเป็นระยะโดยรอบคิดเป็นน้ำหนักรวมกัน 70 - 120 กิโลกรัม และมีเชือกร้อยผ่านห่วงทุกห่วง ปลายเชือกที่เหลืออยู่บนเรือใช้ สำหรับซักรวบปิดทางออกสัตว์น้ำด้านล่างสุดของผืนอวนจะทำการประมงในแหล่งน้ำลึก 5 - 30 เมตร วิธีการทำการประมง เริ่มจากเรือแล่นค้นหาฝูงปลากะตักด้วยเครื่องเอคโค ซาวเดอร์ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินจนกระทั่งพบฝูงปลาจึงทำการทอดสมอเรือและปั่นไฟล่อสัตว์น้ำ เมื่อเห็นว่าปลากะตักรวมกันมากพอแล้วจึงทำการจับปลากะตัก โดยเตรียมรั้งอวนทั้งสี่ด้านไว้ที่ผิวน้ำ ปิดไฟทุกดวง เหลือเฉพาะกลุ่มไฟสปอตไลท์กลางลำ ด้านที่มีเครื่องมืออวนทำการหรี่ไฟ เร่งไฟ และหรี่ไฟ สลับกันจนกระทั่งเห็นว่าเหมาะสม จึงปล่อยอวนลงไปครอบฝูงปลาที่อยู่บริเวณแสงไฟ แล้วรีบกว้านเชือกที่ร้อยผ่านห่วงปิดด้านล่างของผืนอวนทันที เพื่อไม่ให้สัตว์น้ำหนีออกได้ กู้อวนและตักปลาใส่เรือ ทำซ้ำใหม่ หรือย้ายแหล่ง จับคืนหนึ่งส่วนใหญ่ครอบสัตว์น้ำ 5 - 10 ครั้ง จำนวนวันที่ออกทำการประมง 22 - 23 วัน/เดือนจังหวัดที่เรือชนิดนี้ทำการประมง คือ ตราด ระยอง จันทบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต พังงา ตรัง สตูล
อวนลาก(TRAWLS)
หลังจากที่รัฐบาลไทยในอดีตได้เริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - 2509ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การประมงไทยก็ได้เริ่มพัฒนาขึ้น มีการนำเอาเครื่องมืออวนลากหน้าดินแบบแผ่นตะเฆ่เข้ามาทดลองใช้ในน่านน้ำไทย และได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก รัฐฯจึงให้การสนับสนุนการทำประมงอวนลากแก่เอกชน กองเรือประมงไทยภายใต้ระบอบการทำประมงแบบเสรีจึงเริ่มขึ้นสำแดงเดชในคาบสมุทรมาลายูและบริเวณใกล้เคียง อวนลากแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
1. อวนลากเดี่ยว หรืออวนลาก (OTTER - BOARD TRAWLS)มีลักษณะเหมือนกับเครื่องมืออวนลากเรือสองลำหรือเรือลากคู่ คือเป็นอวนมีถุงประกอบกัน ใช้เรือยนต์เพียงลำเดียวทำการลากสัตว์น้ำในระดับต่างๆ ได้ผลดี อวนจะกางออกกวาดสัตว์น้ำ โดยมีแผ่นกระดานน้ำซึ่งเรียกว่า แผ่นตะเฆ่ ทำหน้าที่ให้ปากอวนขยายออกไป เรือชนิดนี้สามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี ทำได้ทั้งกลางวัน กลางคืน นิยมลากตามน้ำและทวนน้ำ ชาวประมงจะนำอวนลากแผ่นตะเฆ่ไว้ท้ายเรือ เมื่อถึงแหล่งทำการประมงก็จะปล่อยอวนลงน้ำพร้อมทั้งแผ่นตะเฆ่ไว้ท้ายเรือโดยบังคับให้เรือเดินหน้าเบาๆ จากนั้นค่อยๆ ผ่อนสายลากลงน้ำไปเรื่อยๆ แผ่นตะเฆ่จะต้านน้ำซึ่งทำให้อวนกางออกรับเนื้อที่จับปลาได้มากขึ้น การปล่อยอวนจะมีหัวหน้าชาวประมงที่เรียกว่า "คนนำลาก" เป็นคนควบคุม เมื่อปล่อยสายลากประมาณ 3 - 5 เท่าความลึกของน้ำ เมื่อปล่อยสายลากจนได้ระยะตามต้องการแล้วก็จะบังคับให้เรือเร่งเครื่องยนต์เดินหน้า ลากอวนไปประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ก็จะทำการกว้านอวนขึ้นเรือด้วยเครื่องกว้านเครื่องยนต์ โดยบังคับให้เรือเดินหน้าเบาๆ เพื่อทำการจับสัตว์น้ำที่ตกขังอยู่ที่ก้นถุง สัตว์น้ำที่จับได้แบ่งออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ

(1) ปลาเลยหมายถึงสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลาทรายแดง ปลาสาก ปลาปากคม ปลาตาโต ปลากะพง ปลาจาระเม็ด กุ้ง และหมึกต่างๆ ฯลฯ
(2) ปลาเป็ดหมายถึงสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อยไม่ใช้บริโภค ได้แก่ ปลาแป้น ปลาอมไข่ ปลาวัว ปลาสลิดหิน และปลาต่างๆ ที่มีขนาดเล็ก
2. อวนลากคู่ (PAIR TRAWLS NET)เป็นเครื่องมือที่ชาวญี่ปุ่นนำเข้ามาในประเทศไทย ลักษณะของเครื่องมือนั้นเป็นอวนมีถุงกับปีกประกอบกัน ขนาดของตาอวนนั้นถี่ ปีกนั้นทำหน้าที่กันสัตว์น้ำให้ลงสู่ตัวอวน ถุงทำหน้าที่จับสัตว์น้ำ ใช้ทำการลากจับสัตว์น้ำ หน้าดินด้วยเรือยนต์ 2 ลำ ขนาดเท่ากัน แต่ละลำตอนหัวเรือมีเครื่องกว้านสำหรับดึงและยกอวน และใช้เป็นที่เก็บสายลากอีกด้วย มีห้องเก็บปลาประมาณ 5 - 6 ห้อง ตอนกลางลำเรือมีเครื่องกว้านรูปทรงกระบอกสั้นเว้า ติดอยู่ 2 ข้างลำเรือ ใช้กำลังหมุนจากเครื่องจักรใหญ่ ส่วนตอนท้ายเรือทำเป็นลานเรียบออกไปเล็กน้อย และมีรอกรองรับสายลวดติดอยู่ทั้งสองข้าง สำหรับเรือบางลำที่มีขนาดเล็กบนหลังคาท้ายเรือก็จะมีเครื่องกว้านติดอยู่ ใช้ซ่อมดึงและเก็บอวน ใช้ชาวประมงลำละ 6 - 7 คน คนเรือ 3 คน สถานที่ทำการประมงบริเวณชายฝั่งทะเลทั่วไป ความลึก 10 - 50 เมตร พื้นที่ท้องทะเลเป็นโคลนเหลวหรือโคลนเหลวปนทราย ทำการประมงได้ ตลอดปีเครื่องมืออวนลากคู่นิยมใช้ทำการประมงในเวลากลางวัน นิยมลากตามน้ำหรือลากทวนน้ำ เมื่อถึงที่ๆ ต้องการทำการประมงแล้ว จะปล่อยอวนลากลงจากลำใดลำหนึ่งแล้วทำการปล่อยเชือกนั้น มีความยาวสุดแท้แต่ความลึก ของน้ำ ส่วนเรือทั้งสองลำจะแยกออกจากกันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ปีกอวนกางขยายออกให้มากซึ่งปีกนั้นจะทำหน้าที่กางกั้นปลาให้วิ่งเข้าสู่ตัวอวน ทุ่นที่ผูกติดอยู่ข้างบนจะทำให้อวนส่วนบนลอยน้ำ ทำให้อวนกางออก เป็นรูปถุงปากกว้างกวาดจับปลาที่อาศัยอยู่ก้นทะเล เมื่อปล่อยสายลากไปได้สักระยะหนึ่งตามต้องการแล้ว ก็บังคับให้เรือเร่งเครื่องยนต์เดินหน้าลากอวนไป เมื่อลากอวนไปประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงแล้ว ก็กว้านอวนขึ้นด้วย เครื่องกว้านเครื่องยนต์ โดยจะบังคับให้เรือเดินหน้าหมดและหันเรือเข้าหากัน เมื่อกว้านจนถึงปลายเรือทั้งสองลำก็จะมาบรรจบกันพอดี หลังจากนั้นจึงยกก้นถุงอวนขึ้นมาบนเรือด้วยเครื่องกว้านหัวเรือนำสัตว์น้ำที่ได้ออก จากถุง สัตว์น้ำที่จับได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ(1) ปลาเลย หมายถึง สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจได้แก่หมึก ปลาทรายแดง ปลาสาก ปลาปากคม ปลากดทะเล ปลาจะละเม็ด ปลาลิ้นหมา ปลากด ปลาริวกิว ปลากะพง และกุ้งเป็นต้น(2) ปลาเป็ด หมายถึง สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อยได้แก่ ปลาอมไข่ ปลาแป้น และลูกปลาเศรษฐกิจขนาดเล็ก เป็นต้น
3. อวนลากคานถ่าง (BEAM TRAWLS)มีลักษณะเหมือนกับอวนลากเดียวทั่วๆ ไป แต่เรือที่ใช้มีขนาดเล็กเป็นเรือหางยาวเครื่องยนต์ประมาณ 8 - 10 แรงม้า ขนาดของปากอวนกว้างประมาณ 3.50 - 4.00 เมตร ยาว 5.00 เมตร ขนาดของตาอวนก้นถุง (ตาเหยียด) 1.6 เซนติเมตร จำนวน 2 ปาก ต่ละปากมีตุ้มถ่วงน้ำหนักทำจากซีเมนต์หล่อขนาด 15 - 18 กิโลกรัม ปากละ 2 ลูก เพื่อช่วยให้อวนจม ตอนปลายของปากอวนจะมีสกีไม้ความยาว 10 นิ้ว ผูกติดอยู่เพื่อให้ความ สูงของปากอวนอยู่ในระดับคงที่ ตอนคร่าวล่างของอวนจะถ่วงด้วยตะกั่วตลอดแนวเพื่อให้อวนจม ความกว้างของปากอวนแต่ละปากจะถูกถ่วงด้วยแป๊ปน้ำความยาวประมาณ 1.2 เมตร ซึ่งแป๊ปน้ำนี้จะผูกยึดกับคานไม้ ซึ่งยื่นออกมาจากสองข้างของเรือ เพื่อช่วยให้ระยะห่างระหว่างอวนทั้ง 2 ปากอยู่อย่างเหมาะสมไม่ใกล้ชิดกันมากนัก เครื่องมือนี้ใช้ทำการประมงบริเวณชายทะเลน้ำตื้นนิยมใช้เครื่องมือนี้ทำการประมงทั้งในเวสากลางวันและกลางคืน นิยมลากตามน้ำและทวนน้ำ เมื่อถึงแหล่งทำการประมงชาวประมงจะกางคันถ่างออกทั้งสองข้างของลำเรือ โดยใช้บังคับให้เรือเดินหน้าเบาๆ พร้อมกับ ปล่อยอวนลงไปพร้อมกันทั้งสองปาก จากนั้นค่อยๆ ปล่อยเชือกลงไปเรื่อยๆ การลากนั้นใช้ระดับความยาวของสายลาก 3 - ค เท่าของความลึกของน้ำ เมื่อปล่อยสายลากตามที่ต้องการก็บังคับให้เรือเดินหน้าลากอวนต่อไป ทำการลากอวนประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง ก็หยุดเรือดึงคานถ่างหมุนเข้าตัวเรือแล้วสาวเชือกอวนขึ้นเรือทีละปากเพื่อจับสัตว์น้ำแล้วจึงปล่อยอวนลากปลาต่อไป สัตว์น้ำที่จับได้เป็นกุ้ง ปู และหอย สำหรับปลานั้นเกือบจะไม่พบ เลยเนื่องจากการลากอวนน้อยมาก แต่ก็ทำลายล้างทรัพยากรทะเลได้ไม่น้อยเช่นกัน
4. อวนลากแคระ (TRAWLS)ลักษณะจะคล้ายๆ เรืออวนลาก แต่ขนาดเล็กกว่า และทำการประมงโดยอาศัยกุ้งเป็นหลักส่วนใหญ่มีความยาวประมาณ 7 - 18 เมตร มักมีกางเขน ซึ่งเป็นไม้ยื่นออกไปทั้งสองข้างของกราบเรือและมีแผ่นตะเฆ่ด้วยวีธีการทำประมงจะคล้ายเรืออวนลากเดียว เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าเท่านั้น แต่ทว่าการทำลายล้างมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลยจากสถิติการประมงในปี พ.ศ.๒๕๐๔ เรืออวนลากสามารถจับสัตว์น้ำได้ในอัตราเฉลี่ย ๒๙๗.๖ กก. ต่อการลาก ๑ ชม. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจับของเครื่องมืออวนลาก และความสมบูรณ์ของทรัพยากร ประมงในทะเลไทยในอดีต ในปี ๒๕๒๘ ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เฉลี่ยลดลงเหลือ ๕๔ กก./ ชม. โดยเครื่องมือชนิดเดียวกัน และในปี ๒๕๔๑ ลดลงเหลือ ๗ กก./ ชม. เท่านั้น และปลาที่จับได้เป็นปลาเล็กปลาน้อยที่ไม่มี ราคา หากไม่คิดหาทางแก้ไขวิกฤตนี้แล้ว คาดกันว่าภายในปี ๒๕๔๖ จะเหลือปลาให้จับไม่เกิน ๑ กิโลกรัมต่อชั่วโมง จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นความเสื่อมโทรมของทะเลไทยเข้าสู่วิกฤตแล้ว
จากสถิติการประมงของกรมประมง แสดงให้เห็นสถานภาพของทรัพยากรประมงในน่านน้ำทะเลไทยเสื่อมโทรมลงผลผลิตที่ได้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ การลดลงของทรัพยากรประมง ไม่ใช้เกิดจากการนำเอาสัตว์น้ำขึ้นมา ใช้มากเกินไปเท่านั้น แต่ยังมีการใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างทรัพยากรชายฝั่ง เช่น แหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง และดอนหอย ยกตัวอย่างเช่น อวนลาก อวนรุน เรือไฟปั่นปลากะตัก ซึ่งวิธีการทำประมงดังกล่าวเป็น การทำลายระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เพิ่มความเสื่อมโทรมของทะเลไทยให้ทรุดหนักยิ่งขึ้นจากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี ๒๕๓๘ ระบุว่ามีเรือประมงถึง ๕๐,๐๐๐ ลำ เป็นเรืออวนลากจำนวนครึ่งหนึ่งและมีขนาดตาอวนที่ถี่มากเกินไป สามารถจับสัตว์น้ำได้ทุกขนาด แม้ว่าจะเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก หรือ ลูกสัตว์น้ำที่ยังโตไม่ได้ขนาด ลักษณะเช่นนี้เป็นการทำประมงแบบนี้เป็นทำลายล้าง และใช้ทรัพยากรมากเกินกว่าศักยภาพการผลิตของท้องทะเล ปัญหานี้เริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากความ ขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการใช้ทรัพยากรประมงระหว่างกลุ่มประมงพาณิชย์กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น

December 11, 2006

เครื่องมือทำการประมง ( อวนรุน )

อวนรุน


อวนรุนเป็นเครื่องมือประมงทะเลชนิดหนึ่ง ที่พัฒนามาจากระวะซึ่งทำการรุนไสด้วย แรงคนเพื่อจับสัตว์น้ำจำพวก กุ้ง ปู ปลา และกุ้งเคย ตามบริเวณชายฝั่ง ต่อมาได้พัฒนาใช้เรือ และเครื่องยนต์แทนแรงงานคน ทำให้สามารถออกทำการประมงได้ไกลฝั่งมากขึ้น

ลักษณะของเครื่องมือประมงอวนรุนประกอบด้วย

- เรือและเครื่องยนต์ โดยเรืออวนรุนขนาดใหญ่ จะมีความยาวเรืออยู่ระหว่าง 14-20 เมตร กว้างประมาณ 2.5 เมตร ขนาดของเครื่องยนต์ที่ใช้จะมีขนาด 112-350 แรงม้า และสำหรับ เรืออวนรุนขนาดเล็ก จะใช้เรือหางยาวและเรือ "กอและ"อีกประเภทหนึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่า จะมีความยาวใกล้เคียงกับเรือหางยาว แต่ความกว้างของเรือจะกว้างกว่าประมาณ 3 เท่าและวางเครื่องยนต์ไว้กลางลำ ขนาดของเครื่องยนต์ที่ใช้จะมีขนาดตั้งแต่ 4-80 แรงม้า

- คันรุน คันรุนที่ใช้สำหรับเรืออวนรุนขนาดใหญ่ จะเป็นไม้ตะเคียนซุย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 นิ้ว ความยาวประมาณ 24-34 เมตร และเหล็กสแตนเลสกลวงมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-14 นิ้ว ความยาวระหว่าง 24- 50 เมตร และสำหรับคันรุนที่ใช้กับเรืออวนรุนขนาดเล็ก จะใช้ไม้ไผ่ธรรมดา

- ขนาดตาอวน ทั้งเรืออวนรุนเล็กและเรืออวนรุนใหญ่ เนื้ออวนที่ใช้ประกอบกันเป็น 3 ชิ้น คือ เนื้ออวนบน เนื้ออวนล่างและก้นถุง โดยมีขนาดลดหลั่นกันไปจาก 2.50-3.00 เซนติเมตร ที่ปากอวนถึง 0.5-1.50 เซนติเมตรที่ก้นถุง เมื่อเปรียบเทียบความกว้างปากอวนของอวนรุนใหญ่จะกว้างกว่าอวนเล็กประมาณ 4 เท่า และยาวกว่าประมาณ 2.5 เท่า

- ลักษณะการทำประมง เรืออวนรุนขนาดใหญ่จะใช้คนทำการ 4-5 คนในคืนหนึ่งๆ จะทำการได้ประมาณ 8-10 ครั้งๆประมาณ 45-60 นาทีในระดับความลึก 6-10 เมตร ในเดือนหนึ่งจะทำการรุน ได้ประมาณ 15-20 วันและใน 1 ปี จะทำการประมงได้ 8 เดือน สำหรับเรืออวนรุนเล็กจะเป็นธุรกิจภายในครัวเรือน จะใช้คนทำการเพียง 2 คน คืนหนึ่งๆ จะทำการรุนได้ประมาณ 6-10 ครั้งๆละประมาณ 20-30 นาที ในระดับความลึก 2-6 เมตรในแต่ละเดือนจะทำการประมงได้ 15-20 วัน ปีหนึ่งจะทำการรุนได้ประมาณ 8 เดือนเช่นกัน

- การทำประมงอวนรุน ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในทะเลฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่เมื่อใดนั้น ไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัด แต่จากสถิติจำนวนเรืออวนรุนที่เริ่มจดทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2513 มีจำนวน 354 ลำ และเพิ่มขึ้นเป็น 1,628 ลำในปี 2516 ในปี 2523 มีสูงสุดถึง 2,262 ลำและในปี 2532 มี 1,907 ลำจึงสันนิฐานได้ว่าอวนรุนน่าจะเกิดขึ้นราวๆปี 2510 แต่ก็ยังมีไม่มากนักทั้งนี้เพราะอวนรุนจับปลาเป็ด ได้มาก และตลาดมีจำกัดประกอบกับสัตว์น้ำยังมีราคาถูก จึงไม่คุ้มทุน จวบจนปี 2513 ที่เริ่มมีโรงงานปลาป่นเกิดขึ้น ทำให้ปลาเป็ดมีราคาสูงขึ้น จำนวนเรืออวนรุนจึงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับนับจากปี 2513 เป็นต้นมา



การประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการประมงอวนรุน

จากการศึกษาของศูนย์พัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่าง กรมประมง ผลจากการศึกษาสภาวะการประมงอวนรุนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง พบว่าสัดส่วนลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจและปลาเป็ดแท้ จากการทำประมงอวนรุน มีความแตกต่างกันมากระหว่างอวนรุนใหญ่และอวนรุนเล็กมีค่าเท่ากับ 58:42 และ 70:30 ตามลำดับ เมื่อเฉลี่ยสัดส่วนของอวนรุนทั้ง 2 ประเภทมีค่าเท่ากับ 60 40จากสัดส่วนดังกล่าวนี้นำมาประเมินหาปริมาณ ลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ปะปนอยู่ในปลาเป็ด โดยน้ำหนักของอวนรุนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น 836 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.23 ล้านบาท (สถิติกรมประมง , 2533) คิดเฉลี่ยโดยน้ำหนักเป็น ลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ปะปนอยู่ในปลาเป็ดทั้งสิ้น 502 ตัน จะเห็นว่าในปีหนึ่งๆ อวนรุนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทำลายลูกสัตว์น้ำที่ถูกจับขึ้นมาก่อนวัยอันเหมาะสมคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ทั้งนี้เพราะอวนรุนมักจะทำการ ประมงบริเวณใกล้ฝั่งหรือกล่าวได้ว่าอยู่ในเขต 3,000 เมตรทั้งสิ้น ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ยกเว้นการทำประมงอวนรุนใหญ่ในบางฤดูการเท่านั้น นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเสื่อมโทรมลง ซึ่งในการจัดการประมง นับว่าเป็นการใช้ ทรัพยากรไปอย่างขาดประสิทธิภาพ กล่าวคือ แทนที่จะปล่อยให้สัตว์น้ำที่ยังเติบโตไม่ได้ขนาดนั้น เจริญเติบโตไป อีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขนาดและมูลค่า และ ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า กับการนำเอาสัตว์ที่ยังมีขนาดเล็กมากมาใช้และขายในราคาต่ำรวมกับปลาเป็ด หากมีการชะลอการจับลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจเหล่านี้ให้โตขึ้นมาจนขนาดพอควร สัตว์น้ำต่างๆ จะมีโอกาสขยายพันธุ์ให้ลูกสัตว์น้ำไว้สืบต่อทดแทนสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่ถูกจับไป ทรัพยากรก็จะไม่เสื่อมโทรมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้จากการศึกษาดังกล่าว ได้รายงานให้เห็นความสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการประมงอวนรุน บริเวณอ่าวไทยตอนล่างในปี 2533 สามารถประเมินให้เห็นภาพรวมได้โดยคำนวณจากเรืออวนรุนที่ทำการประมงทั้ง 4 แหล่ง คือ
บริเวณอ่าวปัตตานี,บริเวณนอกอ่าวปัตตานี,บริเวณทะเลสาบตอนนอกของทะเลสาบสงขลา,บริเวณอ่าวนครฯ จ.นครศรีธรรมราช จะประกอบด้วยอวนรุนใหญ่ประมาณ 80 ลำและอวนเล็กประมาณ 400 ลำ เรือดังกล่าวสามารถออกทำประมงได้เต็มที่ประมาณ 8 เดือนๆละ 20 วัน ฉะนั้นสามารถคำนวณความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งหมดจากการที่อวนรุนจับสัตว์น้ำขึ้นมาก่อนวัยอันเหมาะสม มีมูลค่าทั้งสิ้นเท่ากับ 135 ล้านบาทต่อปี เมื่อพิจารณาจากผลผลิต ปลาเป็ดและมูลค่าบริเวณอ่าวไทยตอนล่างปี 2533ปลาเป็ดมีราคาเฉลี่ยทั้งหมดเท่ากับ 2,667 บาท/ตัน หรือ 2.27 บาท/กก. จากผลผลิตปลาเป็ดทั้งหมดประเมินได้ว่าเป็นลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจอยู่ถึง 502 ตัน เมื่อขายเป็นปลาเป็ดจะได้มูลค่าเพียง1.34 ล้านบาทเท่านั้น ดั้งนั้นการประมงอวนรุนจึงก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 135 ล้านบาท
LINK>>ข้อมูลเพิ่มเติม

แหล่งทำการประมง



แหล่งทำการประมง (Fishing Ground)

การจำแนกแหล่งทำการประมง สามารถจำแนกได้ดังนี้ จำแนกตามลักษณะแหล่งน้ำ ดังนี้
1. น้ำจืด • น้ำนิ่ง (Lentic water) ได้แก่ หนอง บึง ทะเลสาบ บ่อ เป็นต้น
• น้ำไหล (Lotic water) ได้แก่ แม่น้ำ คลอง เป็นต้น
2. น้ำเค็ม • ชายฝั่ง (Coastal) • ใกล้ฝั่ง (Inshore)
• นอกฝั่ง (Offshore) • ทะเลลึก/ทะเลหลวง (Deep Sea/High Sea) จำแนกตามกลุ่มชาวประมง ดังนี้
1. ประมงพื้นบ้าน/ประมงขนาดเล็ก
2. ประมงพาณิชย์
• ในน่านน้ำไทย • นอกน่านน้ำไทย จำแนกตามชนิดสัตว์น้ำ ดังนี้
1. ปลาผิวน้ำ (Pelagic Fish)
2. ปลาหน้าดิน (Demersal Fish)

ปัจจัยที่มีผลต่อแหล่งทำการประมง
• ที่ตั้ง • สภาพอากาศของลมมรสุม • ความเค็มและออกซิเจน • การหมุนเวียนของกระแสน้ำ
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างลองติจูด 97 องศาตะวันออก และ 106 องศาตะวันออก และระหว่างแลตติจูด 5 องศาเหนือ และ 21 องศาเหนือ ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนและมีด้านที่ติดทะเล 2 ด้าน คือ ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน

แหล่งทำการประมงทะเลของประเทศไทย สามารถแบ่งได้เป็น 2 แหล่งใหญ่ คือ
1) แหล่งประมงในน่านน้ำไทย - แหล่งทำการประมงในอ่าวไทย - แหล่งทำการประมงทางฝั่งอันดามัน
2) แหล่งประมงนอกน่านน้ำไทย
แหล่งทำการประมงในอ่าวไทย ลักษณะทางภูมิศาสตร์ทางฝั่งอ่าวไทย เป็นดังนี้
- พื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวทั้งหมด 1,875 กิโลเมตร
- ลักษณะสภาพของทะเลในอ่าวไทยมีลักษณะเป็นที่ลาด
- มีความลึกไม่มากนัก ประมาณ 70-85 เมตร
- สภาพพื้นท้องทะเลเป็นโคลน โคลนปนทราย ทรายปนโคลน และทราย
- เป็นอ่าวแบบกึ่งปิด
- แม่น้ำสำคัญหลายสายไหลลงสู่อ่าวไทย ดังนี้
•เจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง (อ่าวไทยตอนบน) •เวฬุ ระยอง (ฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย)
•ตาปี (ฝั่งตะวันตกคอนใต้ของอ่าวไทย)-ลมมรสุม •ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ –ตามเข็มนาฬิกา
•ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้-ทวนเข็มนาฬิกา
- แหล่งทำการประมงในอ่าวไทยตามการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2524 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 252,000 ตารางกิโลเมตร เขตเศรษฐกิจจำเพาะทางฝั่งอ่าวไทย แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
เขต EEZ ของไทย 252,000 ตร.กม. และเขตทับซ้อนต่างๆ ดังนี้
• ไทย-กัมพูชา 34000 ตร.กท. • ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม 14000 ตร.กม. • ไทย-มาเลเซีย 4000 ตร.กม.

เขตการประมงทางฝั่งอ่าวไทยแบ่งออกเป็น 5 เขต ดังนี้
• เขต 1 อ่าวไทยด้านตะวันออก ประกอบด้วยทะเลที่อยู่ในอาณาเขตของจังหวัดตราด,จันทบุรีและระ
• เขต 2 อ่าวไทยตอนใน ประกอบด้วยทะเลที่อยู่ในอาณาเขตของจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี
• เขต 3 อ่าวไทยด้านตะวันตกตอนบน ประกอบด้วยทะเลที่อยู่ในอาณาเขตของจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี
• เขต 4 อ่าวไทยด้านตะวันตกตอนล่าง ประกอบด้วยทะเลที่อยู่ในอาณาเขตของจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
• เขต 5 อ่าวไทยตอนกลาง ประกอบด้วยทะเลที่อยู่บริเวณกลางอ่าวไทย มีอาณาเขตติดต่อกับเส้นแบ่งเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศมาเลเซีย เวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ลักษณะพื้นท้องทะเลบริเวณชายฝั่งของเขต 1 เป็นทรายปนโคลนและเปลือกหอย บริเวณห่างฝั่งออกไปเป็นทรายปนเปลือกหอย เขต 2, 3 และ 5 ส่วนใหญ่เป็นโคลนเลน เขต 5 พื้นท้องทะเลมีลักษณะเป็นโคลนเหลว แต่ห่างจากฝั่งออกไปจะเป็นโคลนปนทรายกับทรายและเปลือกหอย พื้นท้องทะเลในเขต 1 และ 2 ราบเรียบเหมาะสำหรับการลากอวน บางส่วนของเขต 3, 4 และ 5 ไม่สามารถจะลากอวนได้โดยเฉพาะในเขต 5 ซึ่งอยู่กลางอ่าวและพื้นท้องทะเลส่วนใหญ่จะเป็นสันสูง 1-2 เมตร

แหล่งทำการประมงฝั่งอันดามัน ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เป็นดังนี้
- พื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวทั้งหมด 740 กิโลเมตร
- เป็นที่ราบลาดชัน มีความลึกมากกว่าทางอ่าวไทย
- แม่น้ำที่ไหลเข้าสู่ทะเลอันดามันส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ
- ลักษณะของพื้นท้องทะเลส่วนใหญ่เป็นโคลนปนทราย
- เป็นลักษณะของไหล่ทวีปที่ค่อนข้างแคบ
- มีความลึกของน้ำมากและกระแสน้ำแรง บางแห่งห่างจากฝั่งประมาณ 30 กิโลเมตรก็จะมีความลึกของน้ำเกิน 100 เมตร
- ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้โดยตรง
- มีแหล่งปะการังมาก
- แหล่งทำการประมงด้านทะเลอันดามันตามการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2524 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 126,000 ตารางกิโลเมตร

เขตการประมงแบ่งเป็น 2 เขต คือ
• เขต 6 ทะเลอันดามันตอนบน ประกอบด้วยทะเลที่อยู่ในอาณาเขตของจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต
• เขต 7 ทะเลอันดามันตอนล่าง ประกอบด้วยทะเลที่อยู่ในอาณาเขตจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล

แหล่งประมงนอกน่านน้ำไทย แบ่งออกเป็น 5 เขต คือ
• แหล่งประมง A ครอบคลุมพื้นที่ทะเลจีนใต้ตอนบน
• แหล่งประมง B ครอบคลุมพื้นที่ทะเลจีนใต้ตอนล่าง
• แหล่งประมง C ครอบคลุมพื้นที่ทะเลอันดามันบริเวณช่องแคบมะละกา
• แหล่งประมง D ครอบคลุมพื้นที่ทะเลอันดามันด้านประเทศพม่า
• แหล่งประมง E ครอบคลุมพื้นที่ทะเลอันดามันด้านประเทศบังคลาเทศพื้นที่ทำการประมงนอกน่านน้ำในพื้นที่ประเทศที่มีการทำสัญญาทำการประมงร่วม ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ อินเดีย และซาอุดิอาระเบีย
LINK >> ข้อมูลเพิ่มเติมที่

พระราชบัญญัติการประมง


พระราชบัญญัติ
การประมง
พ.ศ. ๒๔๙๐
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
พระยามานวราชเสวี
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
(นิยาม "สัตว์น้ำ" แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘)(๑ ทวิ)
"ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ" หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้สัตว์น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อเป็นวัตถุดิบ
((๑ ทวิ) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘)
(๒) "ทำการประมง" หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่าหรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใด ๆ
(๓) "เครื่องมือทำการประมง" หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสา หลัก หรือเรือ บรรดา ที่ใช้ทำการประมง
(๔) "เรือ" หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด
(๕) "ที่จับสัตว์น้ำ" หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้ และพื้นดินซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ และภายในเขตน่านน้ำไทยหรือน่านน้ำอื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่หรือมีสิทธิที่จะใช้ต่อไปในการทำการประมง โดยที่น่านน้ำเหล่านั้น ปรากฏโดยทั่วไปว่ามีขอบเขตตามกฎหมายท้องถิ่น หรือธรรมเนียมประเพณี หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสนธิสัญญาหรือด้วยประการใด
"ใบอนุญาต" หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่บุคคลใดใช้ทำการประมง หรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต
(๑๐) "อาชญาบัตร" หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่ผู้รับอนุญาตเพื่อใช้เครื่องมือทำการประมง
(๑๑) "ผู้รับอนุญาต" หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับประทานบัตร ใบอนุญาต อาชญาบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ (๑๒) "เครื่องมือประจำที่" หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งใช้วิธีลงหลักปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง
(๑๓) "เครื่องมือในพิกัด" หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งระบุชื่อ ลักษณะ หรือวิธีใช้ไว้ในกฎกระทรวง
(๑๔) "เครื่องมือนอกพิกัด" หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าเป็นเครื่องมือในพิกัด