อวนรุน
อวนรุนเป็นเครื่องมือประมงทะเลชนิดหนึ่ง ที่พัฒนามาจากระวะซึ่งทำการรุนไสด้วย แรงคนเพื่อจับสัตว์น้ำจำพวก กุ้ง ปู ปลา และกุ้งเคย ตามบริเวณชายฝั่ง ต่อมาได้พัฒนาใช้เรือ และเครื่องยนต์แทนแรงงานคน ทำให้สามารถออกทำการประมงได้ไกลฝั่งมากขึ้น
ลักษณะของเครื่องมือประมงอวนรุนประกอบด้วย
- เรือและเครื่องยนต์ โดยเรืออวนรุนขนาดใหญ่ จะมีความยาวเรืออยู่ระหว่าง 14-20 เมตร กว้างประมาณ 2.5 เมตร ขนาดของเครื่องยนต์ที่ใช้จะมีขนาด 112-350 แรงม้า และสำหรับ เรืออวนรุนขนาดเล็ก จะใช้เรือหางยาวและเรือ "กอและ"อีกประเภทหนึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่า จะมีความยาวใกล้เคียงกับเรือหางยาว แต่ความกว้างของเรือจะกว้างกว่าประมาณ 3 เท่าและวางเครื่องยนต์ไว้กลางลำ ขนาดของเครื่องยนต์ที่ใช้จะมีขนาดตั้งแต่ 4-80 แรงม้า
- คันรุน คันรุนที่ใช้สำหรับเรืออวนรุนขนาดใหญ่ จะเป็นไม้ตะเคียนซุย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 นิ้ว ความยาวประมาณ 24-34 เมตร และเหล็กสแตนเลสกลวงมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-14 นิ้ว ความยาวระหว่าง 24- 50 เมตร และสำหรับคันรุนที่ใช้กับเรืออวนรุนขนาดเล็ก จะใช้ไม้ไผ่ธรรมดา
- ขนาดตาอวน ทั้งเรืออวนรุนเล็กและเรืออวนรุนใหญ่ เนื้ออวนที่ใช้ประกอบกันเป็น 3 ชิ้น คือ เนื้ออวนบน เนื้ออวนล่างและก้นถุง โดยมีขนาดลดหลั่นกันไปจาก 2.50-3.00 เซนติเมตร ที่ปากอวนถึง 0.5-1.50 เซนติเมตรที่ก้นถุง เมื่อเปรียบเทียบความกว้างปากอวนของอวนรุนใหญ่จะกว้างกว่าอวนเล็กประมาณ 4 เท่า และยาวกว่าประมาณ 2.5 เท่า
- ลักษณะการทำประมง เรืออวนรุนขนาดใหญ่จะใช้คนทำการ 4-5 คนในคืนหนึ่งๆ จะทำการได้ประมาณ 8-10 ครั้งๆประมาณ 45-60 นาทีในระดับความลึก 6-10 เมตร ในเดือนหนึ่งจะทำการรุน ได้ประมาณ 15-20 วันและใน 1 ปี จะทำการประมงได้ 8 เดือน สำหรับเรืออวนรุนเล็กจะเป็นธุรกิจภายในครัวเรือน จะใช้คนทำการเพียง 2 คน คืนหนึ่งๆ จะทำการรุนได้ประมาณ 6-10 ครั้งๆละประมาณ 20-30 นาที ในระดับความลึก 2-6 เมตรในแต่ละเดือนจะทำการประมงได้ 15-20 วัน ปีหนึ่งจะทำการรุนได้ประมาณ 8 เดือนเช่นกัน
- การทำประมงอวนรุน ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในทะเลฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่เมื่อใดนั้น ไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัด แต่จากสถิติจำนวนเรืออวนรุนที่เริ่มจดทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2513 มีจำนวน 354 ลำ และเพิ่มขึ้นเป็น 1,628 ลำในปี 2516 ในปี 2523 มีสูงสุดถึง 2,262 ลำและในปี 2532 มี 1,907 ลำจึงสันนิฐานได้ว่าอวนรุนน่าจะเกิดขึ้นราวๆปี 2510 แต่ก็ยังมีไม่มากนักทั้งนี้เพราะอวนรุนจับปลาเป็ด ได้มาก และตลาดมีจำกัดประกอบกับสัตว์น้ำยังมีราคาถูก จึงไม่คุ้มทุน จวบจนปี 2513 ที่เริ่มมีโรงงานปลาป่นเกิดขึ้น ทำให้ปลาเป็ดมีราคาสูงขึ้น จำนวนเรืออวนรุนจึงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับนับจากปี 2513 เป็นต้นมา
การประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการประมงอวนรุน
จากการศึกษาของศูนย์พัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่าง กรมประมง ผลจากการศึกษาสภาวะการประมงอวนรุนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง พบว่าสัดส่วนลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจและปลาเป็ดแท้ จากการทำประมงอวนรุน มีความแตกต่างกันมากระหว่างอวนรุนใหญ่และอวนรุนเล็กมีค่าเท่ากับ 58:42 และ 70:30 ตามลำดับ เมื่อเฉลี่ยสัดส่วนของอวนรุนทั้ง 2 ประเภทมีค่าเท่ากับ 60 40จากสัดส่วนดังกล่าวนี้นำมาประเมินหาปริมาณ ลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ปะปนอยู่ในปลาเป็ด โดยน้ำหนักของอวนรุนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น 836 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.23 ล้านบาท (สถิติกรมประมง , 2533) คิดเฉลี่ยโดยน้ำหนักเป็น ลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ปะปนอยู่ในปลาเป็ดทั้งสิ้น 502 ตัน จะเห็นว่าในปีหนึ่งๆ อวนรุนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทำลายลูกสัตว์น้ำที่ถูกจับขึ้นมาก่อนวัยอันเหมาะสมคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ทั้งนี้เพราะอวนรุนมักจะทำการ ประมงบริเวณใกล้ฝั่งหรือกล่าวได้ว่าอยู่ในเขต 3,000 เมตรทั้งสิ้น ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ยกเว้นการทำประมงอวนรุนใหญ่ในบางฤดูการเท่านั้น นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเสื่อมโทรมลง ซึ่งในการจัดการประมง นับว่าเป็นการใช้ ทรัพยากรไปอย่างขาดประสิทธิภาพ กล่าวคือ แทนที่จะปล่อยให้สัตว์น้ำที่ยังเติบโตไม่ได้ขนาดนั้น เจริญเติบโตไป อีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขนาดและมูลค่า และ ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า กับการนำเอาสัตว์ที่ยังมีขนาดเล็กมากมาใช้และขายในราคาต่ำรวมกับปลาเป็ด หากมีการชะลอการจับลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจเหล่านี้ให้โตขึ้นมาจนขนาดพอควร สัตว์น้ำต่างๆ จะมีโอกาสขยายพันธุ์ให้ลูกสัตว์น้ำไว้สืบต่อทดแทนสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่ถูกจับไป ทรัพยากรก็จะไม่เสื่อมโทรมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้จากการศึกษาดังกล่าว ได้รายงานให้เห็นความสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการประมงอวนรุน บริเวณอ่าวไทยตอนล่างในปี 2533 สามารถประเมินให้เห็นภาพรวมได้โดยคำนวณจากเรืออวนรุนที่ทำการประมงทั้ง 4 แหล่ง คือ
บริเวณอ่าวปัตตานี,บริเวณนอกอ่าวปัตตานี,บริเวณทะเลสาบตอนนอกของทะเลสาบสงขลา,บริเวณอ่าวนครฯ จ.นครศรีธรรมราช จะประกอบด้วยอวนรุนใหญ่ประมาณ 80 ลำและอวนเล็กประมาณ 400 ลำ เรือดังกล่าวสามารถออกทำประมงได้เต็มที่ประมาณ 8 เดือนๆละ 20 วัน ฉะนั้นสามารถคำนวณความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งหมดจากการที่อวนรุนจับสัตว์น้ำขึ้นมาก่อนวัยอันเหมาะสม มีมูลค่าทั้งสิ้นเท่ากับ 135 ล้านบาทต่อปี เมื่อพิจารณาจากผลผลิต ปลาเป็ดและมูลค่าบริเวณอ่าวไทยตอนล่างปี 2533ปลาเป็ดมีราคาเฉลี่ยทั้งหมดเท่ากับ 2,667 บาท/ตัน หรือ 2.27 บาท/กก. จากผลผลิตปลาเป็ดทั้งหมดประเมินได้ว่าเป็นลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจอยู่ถึง 502 ตัน เมื่อขายเป็นปลาเป็ดจะได้มูลค่าเพียง1.34 ล้านบาทเท่านั้น ดั้งนั้นการประมงอวนรุนจึงก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 135 ล้านบาท
LINK>>ข้อมูลเพิ่มเติม