บามเป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ใช้จับปลากระบอกบริเวณชายฝั่ง มีลักษณะคล้ายยอขนาดใหญ่ แต่ไม่มีคันยอ และปูผืนอวนไว้ที่พื้นทะเล รอเวลาให้ปลากระบอกเข้ามาบริเวณศูนย์กลางของผืนอวน แล้วยกขอบอวนทั้ง 4 ด้านให้พ้นผิวน้ำ จำนวนคนที่ใช้ขึ้นอยู่กับลักษณะทางเครื่องมือ บามจะมี 2 แบบ คือ แบบมีถุง และไม่มีถุง บามที่ใช้ในทะเลสาบสงขลาเป็นบามแบบไม่มีถุง ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่ง ห่างฝั่ง 10 - 50 ม น้ำลึก 1.50 - 3 .00ม. ประกอบด้วยร้านนั่ง หรือร้านบาม ทำด้วยเสาไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 - 30 ซม. ยาว 10 - 16 ม. ปักติดกับพื้นคลองเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดพื้นทีประมาณ 3 x 3 ม. หรือใช้เพียง 2 ต้น แล้วใช้ไม้ยึดให้แข็งแรง ด้านใกล้ฝั่งใช้ไม้ทำเป็นขั้นบันได ด้านบนสุดมุงด้วยทางมะพร้าว ถัดลงมามีไม้พื้นปูเป็นที่นั่ง ใต้ที่นั่งมีกว้านไม้แบบมือหมุน 1 อัน และไม้พาดสำหรับยืนหมุนกว้าน ร้านนั่งจะยึดให้แข็งแรง โดยใช้เชือกผูกโยงกับเสาทั้ง 4 ต้น แล้วนำไปยึดกับหลักที่ปักห่างออกไปเล็กน้อย มีปีกทำด้วยหลักไม้และเศษอวนหนึ่งปีกอยู่ด้านในระหว่างริมฝั่งกับร้าน การทำประมงในเวลากลางวันช่วงน้ำขึ้นโดยชาวประมงประกอบอวนเข้ากับคันบาม แล้วจับคันบามและผืนอวนทั้งหมดไว้ที่พื้น ขึ้นไปนั่งเฝ้าดูฝูงปลาบนร้าน รอเวลาจนกว่าฝูงปลากระบอกว่ายมาที่กึ่งกลางผืนอวน จึงกว้านหรือฉุดเชือกผูกมุมอวนด้านใน เพื่อยกขอบอวนทั้ง 4 ด้าน สูงพ้นผิวน้ำประมาณ 1 ม. ทำให้ปลาหนีออกไปไม่ได้จากนั้นจึงลงจากร้านนั่ง เพื่อกู้อวนและตักปลาใส่เรือ เสร็จแล้วทำซ้ำใหม่แบบเดิม จำนวนบามที่พบในทะเลสาบสงขลา มีทั้งหมด 66 ร้าน โดยพบบริเวณปากทะเลสาบสงขลา
LINK: